ก๊าซธรรมชาติ

LNG Terminal คืออะไร? ทำความรู้จัก LNG Terminal กับพี่วาฬ!

Pinterest LinkedIn Tumblr

LNG Terminal คืออะไร? ทำความรู้จัก LNG Terminal กับพี่วาฬ!, Whale Energy Station

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยของเรานั้นเคยเผชิญวิกฤตพลังงานหลายครั้งจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น ท่อก๊าซรั่วไหลในอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อการจ่ายก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ หรือภัยธรรมชาติอย่างพายุปาบึก ที่ทำให้ต้องอพยพพนักงานที่อยู่ในแท่นขุดเจาะในอ่าวไทยทำให้ไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการมีแหล่งพลังงานสำรองที่เชื่อถือได้ LNG Terminal หรือคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว จึงเป็นทางออกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น

บทความนี้พี่วาฬจะพาทุกคนไปสำรวจความสำคัญของ LNG Terminal ต่อประเทศไทย ตั้งแต่กระบวนการทำงาน ไปจนถึงความท้าทายในการพัฒนา LNG Terminal ในอนาคต เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทและประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย

LNG คืออะไร ?

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นก๊าซธรรมชาติที่ผ่านการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออก จากนั้นนำมาลดอุณหภูมิลงจนถึง -160 องศาเซลเซียสให้กลายเป็นของเหลว และมีปริมาตรลดลงถึง 600 เท่า เพื่อสะดวกต่อการขนส่ง โดย LNG มีความปลอดภัยกว่าก๊าซธรรมชาติทั่วไป เนื่องจากไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษ และไม่กัดกร่อน หากเกิดการรั่วไหล LNG จะระเหยกลายเป็นไอที่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว ไม่ตกค้างในน้ำหรือดิน

และด้วยความที่ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศในการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว การนำเข้า LNG จึงเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่สำคัญของพลังงานสะอาด ในการช่วยรองรับความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติตามแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

LNG Terminal คืออะไร?

LNG Terminal คืออะไร? ทำความรู้จัก LNG Terminal กับพี่วาฬ!, Whale Energy Station

LNG Terminal มีหน้าที่รับเรือขนส่ง LNG เพื่อดำเนินการถ่ายเทมายังถังเก็บ LNG ในสถานะของเหลว เพื่อรอเปลี่ยนจากสถานะของเหลวให้กลับไปเป็นก๊าซธรรมชาติ (Regasification) ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังผู้ใช้ปลายทาง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้า  ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ (NGV)   

ทำไม LNG Terminal ถึงสำคัญ?

อย่างที่พี่วาฬเกริ่นไว้ข้างต้นว่าประเทศไทยเราเคยเกิดวิกฤตพลังงานต่าง ๆ มาก่อน โดยหลายกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • เหตุการณ์ท่อก๊าซรั่วไหลในอ่าวไทย ใน ปี 2554 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ ในขณะนั้น สถานีแอนเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 1 อยู่ในช่วงการทดสอบระบบแล้วเสร็จ จึงได้ดำเนินการจ่ายก๊าซธรรมชาติให้กับโครงข่ายท่อก๊าซของประเทศอย่างเต็มกำลังการผลิต
  • ภัยธรรมชาติพายุปาบึก ใน ปี 2562 ที่ทำให้ต้องอพยพพนักงานที่อยู่ในแท่นขุดเจาะในอ่าวไทย ทำให้ไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ PTTLNG จึงดำเนินการส่งก๊าซเต็มกำลังการผลิตที่ 1,610 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อให้ประเทศมีพลังงานพอต่อความต้องการ
  • การเปลี่ยนสัมปทานของแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมถึงเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา ซึ่ง PTTLNG ได้เตรียมการโดยเร่งการก่อสร้าง และเริ่มเปิดดำเนินการสถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 2 บางส่วน (Early Gas Send Out – EGSO) จนแล้วเสร็จในต้นเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

LNG Terminal จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่สำคัญ  เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ช่วยเพิ่มทางเลือกในการบริหารการจัดหาก๊าซธรรมชาติ  โดยสามารถตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติได้ทันที  เพื่อให้ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติใช้อย่างเพียงพอตามความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น  สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ นั่นเองครับ

LNG Terminal ในประเทศไทย

ตอนนี้ในประเทศของเรานั้น มี PTTLNG ที่เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นผู้ให้บริการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) โดยปัจจุบันนี้มีสถานี LNG ทั้งหมด 2 แห่ง ที่พร้อมรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของประเทศ

  • สถานี LNG แห่งที่ 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นับเป็นสถานี LNG แห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 มีกำลังการผลิตถึง 11.5 ล้านตันต่อปี และยังสามารถขยายศักยภาพได้อีก 3.5 ล้านตันต่อปี

  • สถานี LNG มาบตาพุด แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนหนองแฟบ

    เริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 เป็นความร่วมมือระหว่าง PTTLNG และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใน บริษัท พีอี แอลเอ็นจี จำกัด (PE LNG) ในสัดส่วนที่เท่ากัน (50:50) มีกำลังการผลิต 5 ล้านตันต่อปี และมีท่าเทียบเรือที่ยาวที่สุดในโลก ถึง 5.66 กิโลเมตร

โดยสถานี LNG ทั้ง 2 แห่ง มีกำลังผลิตรวมแล้วถึง 19 ล้านตันต่อปี สามารถรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งเลยล่ะ และยังเปิดให้บุคคลที่สาม (Third Party Access) ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต สามารถเข้ามาเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ช่วยส่งเสริมการแข่งขันตามกลไกตลาดของประเทศ

 ความพร้อมสู่ LNG Regional Hub

LNG Terminal คืออะไร? ทำความรู้จัก LNG Terminal กับพี่วาฬ!, Whale Energy Station

PTTLNG เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ LNG Regional Hub ด้วยศักยภาพของสถานี LNG ทั้งสองแห่ง รวมถึงทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ และความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการเป็นสถานี LNG ระดับสากล

ประโยชน์ของประเทศไทยจาก LNG Hub

  • เพิ่มความหยืดหยุ่นการบริหารจัดการ LNG สนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงาน
  • ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • สร้างโอกาสพัฒนาความร่วมมือในระดับสากล

ตอนนี้เพื่อน ๆ พอจะเห็นภาพรวมของ LNG Terminal กันแล้วใช่ไหมครับ ว่ามันสำคัญกับประเทศไทยยังไง และ PTTLNG มีบทบาทสำคัญยังไงบ้างในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานี LNG Terminal ที่ได้มาตรฐานสากล ไปจนถึงการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง LNG ของภูมิภาค เชื่อว่า LNG Terminal จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพด้านพลังงานของไทย และช่วยให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนเลยล่ะครับ

 

อ้างอิงข้อมูล