พลังงาน

ไฮโดรเจนสีเขียวคืออะไร? พลังงานสะอาดแห่งอนาคต ก้าวสำคัญของไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

Pinterest LinkedIn Tumblr

ไฮโดรเจนสีเขียวคืออะไร? พลังงานสะอาดแห่งอนาคต ก้าวสำคัญของไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ, Whale Energy Station

ในปัจจุบันนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแสวงหาพลังงานสะอาดและยั่งยืนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งในบรรดาพลังงานทางเลือกต่าง ๆ “ไฮโดรเจนสีเขียว” เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในฐานะพลังงานแห่งอนาคตที่อาจพลิกโฉมอุตสาหกรรมพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างดี

ว่าแต่ไฮโดรเจนคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? และประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการนำไฮโดรเจนมาใช้? วันนี้พี่วาฬจะพาทุกคนไปหาคำตอบกับเรื่องราวนี้กันล่ะ


ไฮโดรเจนคืออะไร?

ไฮโดรเจน (H₂) เป็นธาตุที่เบาที่สุดและมีมากที่สุด เป็นองค์ประกอบหลักของน้ำและสารประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งไฮโดรเจนที่เราใช้เป็นพลังงานนั้นสามารถผลิตได้จากหลายวิธี โดยแต่ละวิธีก็จะให้เกิดไฮโดรเจนที่มีคุณสมบัติและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน เรากำหนดชื่อสีไฮโดรเจน ตัวอย่างดังนี้

  • ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) : ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน แต่กระบวนการการผลิตยังคงปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จำนวนมาก
  • ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) : ผลิตจากก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกับไฮโดรเจนสีเทา แต่มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ทำให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น
  • ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) : ผลิตขึ้นโดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ผ่านกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) ซึ่งเป็นการแยกน้ำ (H₂O) ออกเป็นไฮโดรเจน (H₂) และออกซิเจน (O₂) ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งไฮโดรเจนสามารถนำไปใช้ได้หลากหลายภาคส่วน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และภาคครัวเรือน เช่น

  • ภาคอุตสาหกรรม : ใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต หรือใช้ในการผลิตปุ๋ยและเคมีภัณฑ์
  • ภาคการขนส่ง : ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ รถบรรทุก เรือ และเครื่องบิน
  • ภาคครัวเรือน : ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการทำความร้อน การปรุงอาหาร และการผลิตกระแสไฟฟ้า

 

ในประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน โดยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการวิจัยในด้านนี้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันเทคโนโลยีไฮโดรเจน สร้างความต้องการการใช้งานให้เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน และภาคขนส่ง  การพัฒนาและทดสอบการผสมไฮโดรเจนในก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการติดตั้งสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแห่งแรกของไทย สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV และรองรับรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก ความร่วมมือระหว่าง ปตท. โออาร์ โตโยต้า และ บีไอจี 

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ต่อไปในอนาคต และก็ยังคงเดินหน้าศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในประเทศไทยอีกด้วยล่ะ

ซึ่งพี่วาฬเองก็เชื่อมั่นว่าไฮโดรเจนสีเขียวจะเป็นพลังงานแห่งอนาคต และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลง จนสามารถนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืนครับ

 

อ้างอิงข้อมูล 

https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-40716.aspx

https://mgronline.com/business/detail/9670000028503

https://www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20210907.html

https://www.onep.go.th/18-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99-2567-green-hydrogen-%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA/