สิ่งแวดล้อม

พี่วาฬอัปเดต การดำเนินงาน PTT Net Zero ความก้าวหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน

Pinterest LinkedIn Tumblr

พี่วาฬอัปเดต การดำเนินงาน PTT Net Zero ความก้าวหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน, Whale Energy Station

เพื่อน ๆ ที่ติดตามเรื่องข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คงตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมาย Net Zero Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับโลก เพราะสถานการณ์โลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน และการที่ประเทศไทยจะพิชิตเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ได้ แน่นอนว่าต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

ก่อนหน้านี้ พี่วาฬเคยเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกันไปแล้วเกี่ยวกับ PTT Net Zero ของ ปตท. ที่จะบรรลุเป้าหมาย  PTT Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)  เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทยถึง 15 ปี  เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพ มากขึ้น พี่วาฬขอเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกันว่า  PTT Net Zero มีการดำเนินการในแต่ละกลยุทธ์อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย

พี่วาฬขอสรุป 3 กลยุทธ์หลักเพื่อไปสู่เป้าหมาย  PTT Net Zero ของ ปตท. ว่ามีอะไรบ้าง?

  1. เร่งปรับ (Pursuit of Low Emissions) ปรับกระบวนการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต
  2. เร่งเปลี่ยน (Portfolio Transformations) เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และบริหารจัดการ Hydrocarbon portfolio
  3. เร่งปลูก (Partnership with Nature and Society) ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

พี่วาฬอัปเดต การดำเนินงาน PTT Net Zero ความก้าวหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน, Whale Energy Station

ทีนี้เรามาดูกันว่า ปตท.​ ได้ดำเนินการในแต่กลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย PTT Net Zero

1. การดำเนินงานตามกลยุทธ์ “เร่งปรับ” Pursuit of Lower Emissions ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต 

1.1 โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้ฝั่งตะวันออกเป็นรายแรกของประเทศ โดยมี 2 โครงการนำร่อง ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติ Arthit และโครงการลังละบาห์ โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติ Arthit เป็นการดำเนินการที่แรกของประเทศไทย คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี มีกำหนดดำเนินการโครงการภายในปี พ.ศ. 2570

1.2 โครงการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ (CCU) โดยมีโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง สถาบันนวัตกรรม ปตท. และ OR ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจและการตลาดของผลิตภัณฑ์โซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งเป็นการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตและนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยา อาหารสัตว์ และสารเคมีในงานอุตสาหกรรม

1.3 ปรับเปลี่ยนการส่งก๊าซให้ลูกค้าในอนาคต จากก๊าซธรรมชาติเป็น LNG ซึ่งมีปริมาณ CO2 ปนอยู่น้อยมาก ทำให้ไม่ต้องดำเนินการแยก CO2 ออกจาก LNG จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

1.4 การเร่งผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดย ปตท. มีการจัดตั้งกลุ่ม Hydrogen Thailand เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีไฮโดรเจน เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังมีการเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และทดสอบการใช้งานของรถ FCEV จำนวน 2 คัน ในช่วงปี พ.ศ. 2566 – 2567

1.5  การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการปลดล็อคขีดจำกัดของหน่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (AGRU) ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 และ 6 ด้วยการจำลองเสมือนจริงขั้นสูง ระยะที่ 2 โดยทำการศึกษาเชิงลึกและค้นพบสัดส่วนของสารละลายเอมีนที่เหมาะสมในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจากการปรับปรุงดังกล่าวทำให้สามารถลดการใช้พลังงานลงได้มากกว่า 220,000 MMBTU ต่อปี หรือคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 15,000 ตันต่อปี

1.6 โครงการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ปฏิบัติงาน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ชนิดลอยน้ำ ในพื้นที่สถาบันนวัตกรรม ปตท. มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 12 กิโลวัตต์ ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและติดตั้ง โดยคาดว่าจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ได้ประมาณ 1,295 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินที่ใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน จำนวน 14 คัน คาดว่าสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 127 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

2. การดำเนินงานตามกลยุทธ์ “เร่งเปลี่ยน (Portfolio Transformation) สู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  โดย ปตท. เดินหน้าปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุน ลดสัดส่วนการลงทุนในพลังงานฟอสซิล มุ่งเน้นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  • เพิ่มสัดส่วน Green portfolio ด้วยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ พัฒนาโครงการพลังงานลม เป็นต้น
  • ยุติการลงทุนในธุรกิจถ่านหินทั้งหมด โดยทำสัญญาขายหุ้น “PTT Mining” ให้ “Astrindo” ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปตท. มุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการดำเนินงานของบริษัทในเครือ เช่น บริษัท รีแอค จำกัด (“ReAcc”) บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme) และบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เป็นต้น

 

3. การดำเนินงานตามกลยุทธ์ “เร่งปลูก” Partnership with Nature and Society เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก

  • ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมปลูกและฟื้นฟูป่า จำนวน 1 ล้านไร่ ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537 โดยสามารถดูดซับ CO2 กว่า 2.14 ล้านตัน CO2  / ปี และเพิ่ม O2 ได้มากถึง 1.7 ล้านตัน O2 /ปี
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกป่าบนบกและป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ. 2573 พร้อมวางแผนดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ (Drone) มาช่วยสำรวจพื้นที่ร่วมกับภาครัฐ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ปริมาณการกักเก็บ CO2 สำรวจหาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูก และบำรุงรักษาป่าใหม่ให้ดูดซับ CO2 อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จากการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ 3P หรือ เร่งปรับ เร่งปลูก เร่งเปลี่ยน ของ ปตท. ภายใต้ PTT Net Zero สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมได้จริง ซึ่งหากทุกองค์กรร่วมมือกันขับเคลื่อนกลยุทธ์โดยมีเป้าหมาย Net Zero Emissions เหมือนกัน พี่วาฬคิดว่าน่าจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยเราให้ก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ได้ตามกำหนดอย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศและต่อโลกของเรามาก ๆ เลยนะครับ


ที่มา

https://www.pttplc.com/th/Media/Activity/Highlights/Content-36564.aspx

https://www.pttplc.com/th/Sustainability/Environment/Climatechangemanagement.aspx

https://www.thebangkokinsight.com/news/business/1299544/