ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ท่ามกลางสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ตึงเครียด
วันที่ 7 เม.ย. 67 อิสราเอลส่งตัวแทนเข้าร่วมเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มฮามาสรอบใหม่ ที่เมือง Cairo ประเทศอียิปต์ โดยมีกาตาร์ สหรัฐฯ และอียิปต์เป็นคนกลางเจรจา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของ Hamas กล่าวว่าการเจรจายังคงอยู่ระหว่างการแก้ไขรายละเอียดบางประการ
Reuters รายงานกองทัพอิสราเอลถอนทหารภาคพื้นดินเกือบทั้งหมดออกจากฉนวนกาซาทางตอนใต้ เหลือไว้เพียง 1 กองพันรักษาการ โดยมิได้ชี้แจงเหตุผล อย่างไรก็ตาม นาย Yoav Gallant รมว. กระทรวงกลาโหมอิสราเอลกล่าวว่ากำลังพลของกองทัพยังคงเตรียมการสำหรับปฏิบัติการในอนาคตที่ กาซา
ที่ประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC+ มีมติคงมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจ 2.2 MMBD จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 67 (ตามที่ตกลงกันไว้เมื่อต้นเดือน มี.ค. 67) และกำหนดการประชุม OPEC and non-OPEC Ministerial ครั้งถัดไปในวันที่ 1 มิ.ย. 67 ซึ่งจะเป็นการประชุมเต็มรูปแบบ โดยให้ประเทศที่ผลิตเกินโควตา จัดส่งแผนลดการผลิต ภายในวันที่ 30 เม.ย. 67 ทั้งนี้ Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC (12 ประเทศ) ในเดือน มี.ค. 67 ลดลง 0.05 MMBD MoM อยู่ที่ 26.42 MMBD
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในเดือน มี.ค. 67 เพิ่มขึ้น 303,000 ราย จากเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 เดือน ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.8%
ติดตามมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันเวเนซุเอลาของสหรัฐฯ เนื่องจากประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นาย Niclolas Maduro ที่ให้คำมั่นสัญญาจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 28 ก.ค. 67 ที่เสรีและยุติธรรม ล่าสุด ศาลสั่งห้ามผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นาง María Corina Machado ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากปัญหาด้านการเงิน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นว่าเวเนซุเอลาไม่ทำตามสัญญา และอาจกลับมาคว่ำบาตรน้ำมันอีกครั้ง ทั้งนี้ในเดือน มี.ค. 67 เวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันดิบ 590,000 บาร์เรลต่อวัน (ลดลง 20,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้มาตรการผ่อนผันการคว่ำบาตรจะสิ้นสุดในวันที่ 18 เม.ย. 67