พลังงาน

ไขข้อสงสัย ใครเป็นเจ้าของ ปตท. ตัวจริงกันแน่?

Pinterest LinkedIn Tumblr

ไขข้อสงสัย ใครเป็นเจ้าของ ปตท. ตัวจริงกันแน่?, Whale Energy Station

หนึ่งประเด็นร้อนที่ตีคู่มากับการประกาศผลกำไรของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. คงไม่พ้นประเด็นยอดฮิต เช่น ใครกันน้าที่เป็นเจ้าของ ปตท.? กำไรเข้านายทุนเต็ม ๆ ประชาชนได้อะไร? หรือ ผู้ถือหุ้นกินจนอิ่ม เพราะเอาสมบัติของชาติมาทำนาบนหลังคน และประเด็นอื่น ๆ ก็ไม่พ้นวนเวียนแถว ๆ นี้แหละ เรียกได้ว่าประกาศผลกำไรทีไร คนพร้อมใจต่อว่า ปตท. แบบไปในทิศทางเดียวกัน พี่วาฬในฐานะผู้ติดตามข่าวสารพลังงาน เห็นแล้วก็อดไม่ได้ อยากชี้แจงให้ทุกคน ย้ำว่าทุกคน หันมาสนใจข้อมูลสาธารณะตรงนี้สักนิด ทำความเข้าใจกันใหม่ จะได้รู้ว่าใครกันแน่ที่เป็น เจ้าของ ปตท.

ใครเป็นเจ้าของ ปตท. ตัวจริง?

ข้อมูลที่พี่วาฬเอามาแชร์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นความลับอะไร ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ได้ ตลอดเวลาเลยว่า ผู้ถือหุ้น ปตท. รายใหญ่มีใครบ้าง แต่พี่วาฬสรุปออกมาให้แล้วครับ

ไขข้อสงสัย ใครเป็นเจ้าของ ปตท. ตัวจริงกันแน่?, Whale Energy Station

จากตารางข้อมูลข้างบนจะเห็นได้ว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. คือ กระทรวงการคลัง ที่ถือหุ้นของกลุ่ม ปตท. อยู่ 51.11% โดยประมาณ ส่วนผู้ถือหุ้น ปตท.รายใหญ่อันดับที่ 2 และ 3 คือกองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง ทั้ง 2 กอง ซึ่งกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง ก็เป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐที่หน่วยงานของรัฐและประชาชนไทยสามารถ ลงทุนร่วมหุ้นในกองทุนนี้รวมกันได้ และยังมีสำนักงานประกันสังคมที่ถือหุ้น ปตท. อีก 1.60%

จากข้อมูลข้างต้น เราจะเห็นว่า ปัจจุบัน ปตท. เป็นบริษัทมหาชน แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. ยังคงเป็นของ รัฐบาลไทย โดยหุ้นของ ปตท. นั้นเป็นของรัฐบาลไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวน 64.87% และการที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้น ปตท. รายใหญ่นั่นก็แปลว่าหุ้น ปตท. เองก็เป็นของประชาชนเช่นกัน และถ้าเราในฐานะประชาชนหรือนักลงทุนรายย่อยอยากลงทุนในหุ้น ปตท. ด้วย ก็สามารถเข้าไปซื้อหุ้น ปตท. ได้ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เหมือนกันนะครับ

เอาล่ะ กลับมาที่คำถามยอดฮิตบนโซเชียลมีเดีย และอาจจะเป็นคำถามในใจหลาย ๆ คนว่า

กำไร ปตท. เพิ่มขึ้น ประชาชนได้อะไร?

อย่างที่พี่วาฬเล่าไปข้างต้นว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. ก็คือกระทรวงการคลัง หรือก็รัฐบาลนั่นเอง อย่างในปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท.ได้นำส่งรายได้ให้รัฐในรูปแบบเงินปันผลและภาษีเงินได้ รวมแล้วกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท และถ้าเรานับตั้งแต่ปี 2544 – 2566 ปตท. ได้นำส่งรายได้ให้รัฐในรูปแบบเงินปันผลและภาษีเงินได้ ไปถึง 1.24 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐสามารถนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศและคนไทยอย่างเราทุกคน เช่น การศึกษา คมนาคม สาธารณสุข เป็นต้น

 

นอกจากนี้กลุ่ม ปตท. ยังเตรียมงบลงทุน ประจำปี พ.ศ. 2567 – 2571 จำนวน 89,203 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอีกด้วย ปัจจุบัน ปตท. ได้พัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต เช่น EV Charging Station แบรนด์ on-ion, Swap & Go สถานีสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้อรอชาร์ต และธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน เช่น โรงงาน Plant & Bean รับจ้างผลิตอาหารโปรตีนจากพืช 100%, Innobic Nutrition ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เป็นต้น และนอกจากด้านธุรกิจใหม่ ๆ แล้ว ปตท. ยังมีโครงการในการช่วยเหลือประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเร่งดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต อีกทั้งเพิ่มปริมาณการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนด้วยการปลูกป่าอย่างยั่งยืน เพื่อปูทางสู่ Net Zero Emissions ภายในปี พ.ศ. 2593  เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนในระยะยาว ซึ่ง Net Zero เป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะต้องทำให้สำเร็จ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลัก ๆ คนที่ได้ประโยชน์จาก กำไร ปตท. สุดท้ายก็คือประชาชนแบบเรานั่นเอง

 

คำถามสุดท้าย ถ้าเอา ปตท. กลับมาเป็นของรัฐ กำไรก็เป็นของรัฐเต็ม ๆ แบบนี้ไม่ดีกว่าหรอ?

เพื่อน ๆ ลองคิดตามกันดูนะครับ ถ้าเรามองในแง่ตัวเงิน การที่ ปตท​. กลับไปเป็นของรัฐ ทำกำไรได้เท่าไหร่เข้ารัฐบาล 100%  เป็นเรื่องดีแน่นอนครับ แต่ในมุมกลับกัน ในแง่ตัวเลขกำไรที่ประกาศผลการดำเนินการออกมา ฟังดูมากมายก็จริง แต่ในความเป็นจริงสัดส่วน กำไรของ ปตท.​ คิดเป็น % เทียบกับรายได้ ในปีล่าสุด (พ.ศ. 2566) อยู่ที่ 3.6% เท่านั้น ซึ่งถ้ามองในแง่สัดส่วนเท่านี้ แสดงให้เห็นแล้วธุรกิจมันไม่ได้กำไรมากมายอย่างที่ทุกคนเชื่อกันหรอกครับ

แล้วตัวเลขกำไรที่ว่านี้บ่งบอกอะไรได้บ้าง? ตัวเลขที่เห็นหมายความว่ากำไรแสนล้านแลกมาจากต้นทุนในการดำเนินการที่มีอยู่มหาศาลครับ สำหรับใครที่บอกว่าทรัพยากรประเทศฟรี ๆ กำไรเน้น ๆ  ไม่จริงครับเพราะในความเป็นจริง ทุกอย่างมีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบอย่างปิโตรเลียมซึ่งมีส่วนที่ประเทศเราใช้ได้และใช้ไม่ได้ เราก็ต้องมีเครื่องมือขุดเจาะ การกลั่น  แรงคนทำงาน ค่าขนส่ง ค่าบำรุงรักษา และค่าอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นเวลาเรามองว่าธุรกิจมีกำไร ก็ต้องอย่าลืมกลับไปมองที่ต้นทุนด้วยนะครับ

เอาล่ะ พออ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ พอนึกออกแล้วใช่มั้ยครับว่า ถ้าเราเอา ปตท. กลับมาที่รัฐ สิ่งที่กลับมาย่อมไม่ได้มีแค่กำไรแน่นอน แต่ยังรวมไปถึงการที่รัฐต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด 100% ด้วยเช่นกัน  และถ้าเรามองย้อนกลับไป จุดประสงค์ที่ ปตท. ถูกแปรรูปมาก็เพื่อลดภาระทางการเงินของรัฐบาล ให้ผ่านวิกฤตทางการเงิน อย่าง IMF ในปี 2540 มาได้แล้ว การแปรรูปยังส่งผลประโยชน์ต่อประเทศอีกด้วย เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความคล่องตัวในการบริหารงานแล้วยังทำให้ ปตท. สามารถระดมทุนเพิ่มเติม นำมาสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลดีต่อรัฐ เพราะรัฐจะได้ปันผลเป็นรายได้กลับเข้าสู่รัฐมากขึ้น สุดท้ายแล้วผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดก็คือรัฐนั่นเอง ดังนั้นพี่วาฬคิดว่าการที่รัฐเป็นเจ้าของ ปตท. ในรูปผู้ถือหุ้นรายใหญ่แบบนี้ เป็นผลดีกับประเทศของเราในระยะยาวมากกว่าครับ

 

ที่มา :

https://www.pttplc.com/th/Media/Activity/Highlights/Content-36564.aspx

https://setsustainability.com/libraries/1210/item/-net-zero-?type=&search

https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/PTT/major-shareholders

https://pttinsight.com/api/upload/issues/02.pdf